ฮิลิดิน ดิอาซ รวบรวมพละกำลังในการยกครั้งสุดท้ายยกโลหะหนัก 127 กิโลกรัมขึ้นเหนือหัว ทันทีที่กระดิ่งของกรรมการดังขึ้น มันก็ทำให้เธอกลายเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์ที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก
อย่างไรก็ดีเธอเกือบมาไม่ถึงจุดนี้ เพราะตลอด 2 ปีก่อนโตเกียว โอลิมปิก ดิอาซ ต้องเผชิญกับวิบากกรรมครั้งใหญ่ของชีวิต โดยเฉพาะ การถูก “ล่าแม่มด” โดนขู่ฆ่าจากเพื่อนร่วมชาติ หลังถูกกล่าวหาว่าเป็นศัตรูของรัฐบาลประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต
ดาวรุ่งพุ่งแรงฟิลิปปินส์ ฮิดิลิน ดิอาซ เกิดและเติบโตที่เมืองซัมโบอังกา เมืองขนาดใหญ่บนเกาะมินดาเนา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฟิลิปปินส์ เธอเป็นหนึ่งในพี่น้อง 6 คนของพ่อที่เป็นคนขับสามล้อหาเลี้ยงครอบครัว
ดิอาซ เริ่มรู้จักกับการยกน้ำหนักครั้งแรกตอนอายุ 11 ขวบ จากการแนะนำของลูกพี่ลูกน้อง ทว่าดูเหมือนว่ากีฬาชนิดนี้จะทำให้พ่อแม่ของเธอไม่ปลื้มสักเท่าไร
“แม่ของฉันบอกว่า ‘จะไม่มีใครชอบแกตอนที่แกโตขึ้น กีฬานี้มันสำหรับผู้ชาย แกจะกล้ามใหญ่ และจะมีลูกไม่ได้'” ดิอาซ
“แต่ฉันยังเล่นมันเพราะว่าฉันสนุกกับมัน ต่อมาท่านก็เริ่มสนับสนุนฉันตอนที่ท่านเห็นว่าฉันสนุกกับมันมาก และได้เห็นผลประโยชน์ที่ได้รับเช่นทุนเรียนมัธยมปลาย”
สิ่งหนึ่งที่ ดิอาซ แตกต่างจากเด็กในรุ่นเดียวกันคือเธอเป็นคนที่มีพรสวรรค์ เพราะหลังจากที่เริ่มเล่นได้เพียง 6 ปี เธอก็มีชื่อเข้าไปแข่งขันในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ นั่นคือ โอลิมปิก 2008 ที่ปักกิ่ง ด้วยวัยเพียง 17 ปี
แม้ว่าการแข่งนั้นเธอจะจบในอันดับ 10 จาก 12 คนในรุ่น 58 กิโลกรัม (รุ่นเดียวกับที่ วันดี คำเอี่ยม ได้เหรียญทองแดง) แต่ ดิอาซ ก็ถูกคาดหมายว่าเธอจะเป็นความหวังใหม่ของฟิลิปปินส์ในการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกในอนาคต
ลอนดอน 2012 ดิอาซ เติบโตขึ้น แถมยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ถือธงนำขบวนนักกีฬา ทว่าน่าเศร้าที่ทัวร์นาเมนต์นี้เป็นเหมือนฝันร้าย เมื่อเธอยกไม่ผ่านในท่าคลีนแอนด์เจิร์ก จนต้องกลับบ้านไปแบบไร้อันดับ
อย่างไรก็ดีโชคดีที่เธอเริ่มยกน้ำหนักตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้ ดิอาซ ยังมีโอกาสแก้ตัวใน ริโอ 2016 ซึ่งเธอก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ด้วยการคว้าอันดับ 2 ในรุ่น 53 กิโลกรัม เอาเหรียญเงินโอลิมปิกมาคล้องคอได้สำเร็จ
หลังจากนั้นเธอก็ก้าวขึ้นมาเป็นนักยกน้ำหนักแถวหน้าของเอเชีย ด้วยการคว้าเหรียญทองในเอเชียนเกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซีย และเหรียญทองแดงในการแข่งขันชิงแชมป์โลก 2017 ที่สหรัฐอเมริกา และ 2019 ที่พัทยา
ในช่วงเวลานั้น ดิอาซ ถูกมองว่าจะเป็นตัวความหวังในการคว้าเหรียญทองเหรียญแรกของฟิลิปปินส์ ในโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว แต่หนึ่งปีก่อนหน้านั้น ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
ผังล้มประธานาธิบดี
ดิอาซ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อเธอในตอนนั้นที่รับราชการอยู่ในกองทัพอากาศ ดันมีชื่ออยู่ในผัง “ล้มประธานาธิบดี” โรดริโก ดูแตร์เต ผู้นำจอมโหด ซึ่งได้รับเลือกจากประชาชนอย่างถล่มทลายมาเมื่อปี 2016
เขาคือประธานาธิบดีที่เข้ามาด้วยนโยบายจริงจังกับการแก้ปัญหาอาชญากรรมและต่อต้านการคอรัปชั่น ทว่าหลังดำรงตำแหน่งเขาก็ถูกวิจารณ์อย่างหนาหูจากแนวทางที่แข็งกร้าว โดยเฉพาะการทำสงครามยาเสพติด จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 6,000 -11,000 คน
นอกจากนี้นโยบายปราบปรามยาเสพติดของเขายังทำให้หัวหน้าอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ เรียกร้องให้ตรวจสอบ ดูแตร์เต ในฐานะผู้ต้องสงสัยการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และเพิ่งอนุมัติให้มีการสอบสวนไปเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา
สำหรับ ดิอาซ ชื่อของเธอถูกพูดถึงในฐานะศัตรูของรัฐ เมื่อปี 2019 ซัลวาดอร์ ปาเนโญ หัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของ ดูแตร์เต ในตอนนั้นระบุว่าเธอเป็นหนึ่งในบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาล
“ทำเนียบประธานาธิบดี รวมถึงท่านประธานาธิบดี ได้รับข่าวกรองที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว พบว่ามีความพยายามที่จะทำให้รัฐบาลนี้เสื่อมเสีย” ปาเนโญ กล่าวในวันแถลงข่าวเมื่อปี 2019
“พวกเขาคือศัตรูของรัฐ เพราะมีใครบ้างที่อยากจะโค่นล้มรัฐบาล หากไม่ใช่ศัตรูของรัฐ”
ในตอนแรก ดิอาซ คิดว่านี่อาจจะเป็นมุกล้อเล่นกันในโลกโซเชียล เพราะเธอไม่ใช่คนดังคนเดียวที่อยู่ในผังล้มประธานาธิบดี เพราะยังมี เกรตเทน โฮ นักวอลเลย์บอล พิธีกร และผู้ประกาศข่าว รวมถึง มาเรีย เรสซา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพรวมอยู่ด้วย
“ตอนที่ได้ยินชื่อของฉันอยู่ในนั้นเป็นครั้งแรกฉันรู้สึกตลก ฉันคิดว่ามันเป็นแค่มุกตลก แต่เมื่อฉันคิดให้ดีฉันรู้สึกกลัว ไม่ใช่เพราะมันเป็นความจริง แต่ฉันกังวลเรื่องความปลอดภัยของฉันและครอบครัว” ดิอาซ อธิบายใน Instagram ส่วนตัว
และหลังจากนั้นไม่นานเธอก็ตกเป็นเป้าหมายของความบ้าคลั่งในการล่าแม่มดจากเพื่อนร่วมชาติ ซึ่งรักและเชิดชูในตัวประธานาธิบดีดูแตร์เต รวมถึงกองทัพไอโอของเขาที่ทั้งพูดจาว่าร้าย เสียดสี ด่าทอ ไปจนถึงขั้นขู่ฆ่า
“มีคนส่งข้อความนั้นตอนที่ฉันกำลังฝึกซ้อม พวกเขาพูดจาแย่ ๆ เกี่ยวกับพ่อของฉัน ฉันรู้สึกตกใจมากแต่ก็รู้สึกเจ็บปวดมากกว่าที่พวกเขามายุ่งกับครอบครัวของฉัน หลังจากนั้นฉันก็ร้องไห้” ดิอาซ
“ผู้คนต่างส่งข้อความมาทางโซเชียลมีเดีย พูดเรื่องแย่ ๆ และด่าฉัน ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเกิดอะไรขึ้น ฉันไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไป และพวกเขาก็ด่าในเรื่องที่ไม่ได้เป็นความจริงเลยด้วยซ้ำ”
“ฉันกำลังยุ่งกับการเตรียมตัวในโอลิมปิก มันเป็นเวลาที่ยากลำบากมาก”
การต้องมาเป็นที่รองรับอารมณ์ส่งผลต่อสภาวะจิตใจของเธออย่างหนัก และมันซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น เมื่อการระบาดของโควิด-19 อุบัติขึ้น
ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก
อันที่จริง ดิอาซ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเธอเข้าไปอยู่ในผังล้มประธานาธิบดีได้อย่างไร แต่ BBC ระบุว่ามันน่าจะมาจากการที่ โรเดล เจย์เม บล็อกเกอร์ที่ถูกจับกุมจากข้อหาแชร์ข่าวที่อ้างว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันของฟิลิปปินส์และพวกพ้องของเขาอาจจะส่วนเกี่ยวพันกับยาเสพติด เข้ามาติดตามเธอในอินสตาแกรม
บวกกับก่อนหน้านั้นไม่นาน ดิอาซ ได้ออกมาพูดผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวถึงปัญหาการสนับสนุนที่ไม่เพียงพอจากรัฐบาล ทั้งในเรื่องเบี้ยเลี้ยงและอุปกรณ์การซ้อมสำหรับการสู้ศึกโตเกียว 2020 จนทำให้เธอต้องหาผู้สนับสนุนภาคเอกชนด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ดีแม้ว่า ดิอาซ จะออกมาปฏิเสธว่าเธอไม่ได้มีความคิดที่จะต่อต้านรัฐบาล แต่ทันทีที่ผังล้มประธานาธิบดีเผยแพร่ออกไป เธอก็กลายเป็นเป้าหมายของความเกลียดชังและการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต จากฝ่ายสนับสนุนดูแตร์เต
“ฉันไม่ต้องการคำใส่ร้ายป้ายสีหรือเรื่องราวที่แต่งขึ้น” ดิอาซ กล่าวในอินสตาแกรม
“ฉันไม่ต้องการคำโกหกจากเพื่อนร่วมชาติฟิลิปปินส์ ฉันต้องการกำลังใจ ไม่ใช่แค่สำหรับฉัน แต่สำหรับนักกีฬาคนอื่นด้วย ฉันไม่ได้ยกน้ำหนัก แต่กำลังพยายามยกศักดิ์ศรีของชาวฟิลิปปินส์ทุกคน”
ทว่ามันไม่ได้ดีขึ้น เมื่อคำด่าทอยังคงกระหน่ำเข้ามาในกล่องข้อความอยู่ทุกวันจนแทบลบไม่ไหว และยิ่งมาซ้ำเติมจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เธอต้องติดแหงกอยู่ที่มาเลเซียที่เป็นสถานที่เข้าค่ายเก็บตัวอยู่นานหลายเดือน
“มันมีความวิตกกังวลมาก เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าล็อกดาวน์คืออะไร เราคิดว่ามันอาจจะแค่ 2 สัปดาห์ ฉันมาจากฟิลิปปินส์ โค้ชของฉันมาจากกวมและจีน เราไม่รู้จักใครในมาเลเซียเลย” ดิอาซ ย้อนความหลัง
เธอต้องอยู่แต่ในหอพักที่เช่าเอาไว้และฝึกซ้อมด้วยพื้นที่และอุปกรณ์ที่มีอย่างจำกัด ทั้งการใช้ลานจอดรถเป็นสถานที่ทำคาร์ดิโอ หรือใช้ไม้ไผ่ผูกเข้ากับถังน้ำแทนตุ้มน้ำหนักในการฝึกซ้อม จนในที่สุด โตเกียว 2020 ก็ถูกเลื่อนออกไปอีก 1 ปี
“แม้มีเวลาเพิ่มขึ้นอีก 12 เดือน แต่สำหรับฉัน … มันกลับทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันจะไม่สามารถทำมันได้” ดิอาซ กล่าวต่อ
“เวลาที่เราคุยกับนักจิตวิทยากีฬาของเรา ฉันรู้สึกเหมือนกับกำลังจะร้องไห้ และอยากบอกพวกเขาว่าฉันรู้สึกอย่างไร พวกเขาแค่พูดว่าให้ทำไปแบบวันต่อวัน ควบคุมสิ่งที่ฉันสามารถควบคุมได้ เราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้”
อย่างไรก็ดีความอดทนมันก็ตอบแทนเธออย่างคุ้มค่าในหน้าร้อนปี 2021
เหรียญทองประวัติศาสตร์
26 กรกฎาคม 2021 คือวันนั้น ดิอาซ ปรากฏตัวด้วยสีหน้าค่อนข้างมั่นใจ และทำได้ดีในท่าสแนช รุ่น 55 กิโลกรัม หลังยกได้ 97 กิโลกรัม เท่ากับ เลี่ยว ชิวยุน คู่แข่งจากจีน และจะวัดกันต่อในท่าคลีนแอนด์เจิร์ก
รอบนี้ ชิวยุน ได้ยกก่อน และทำได้ดีที่สุดคือ 126 กิโลกรัม ทำให้การยกครั้งสุดท้าย ดิอาซ ต้องยกให้ได้ 127 กิโลกรัม มันไม่ใช่น้ำหนักที่ง่าย แต่เป็นความหวังเดียวหากต้องการทำฝันให้เป็นจริง
ดิอาซ ตั้งสมาธิแล้วเดินไปยังแท่นยกน้ำหนัก ก่อนจะรวบรวมกำลังทั้งหมดที่มียกตุ้มเหล็กน้ำหนัก 127 กิโลกรัมขึ้น และทันทีที่เสียงกริ่งของกรรมการดังขึ้น ซึ่งหมายความว่าทุกอย่างถูกต้องตามกติกา เธอก็ร่ำไห้ออกมา
มันเป็นน้ำตาแห่งความตื้นตันกับสิ่งที่เธอต้องต่อสู้มาตลอด ทั้งความเจ็บปวดและความอดกลั้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก่อนจะกลายผู้คว้าเหรียญทองโอลิมปิกคนแรกในประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์ หลังจากเข้าร่วมครั้งแรกเมื่อ 97 ปีก่อน และที่สำคัญยังทำลายสถิติโอลิมปิกได้อีกด้วย
“ตอนที่อยู่ในการแข่งขันฉันเหมือนกับรู้ว่า ‘นี่คือวันของฉัน ฉันเชื่อในพระเจ้า ฉันเชื่อในทีม และสุดท้ายที่ฉันต้องทำคือเชื่อในตัวเอง'” ดิอาซ ย้อนเหตุการณ์ในตอนนั้น
การคว้าเหรียญทองทำให้เธอกลับประเทศเยี่ยงวีรสตรี ผู้คนมากมายต่างมาต้อนรับที่สนามบิน มีรถแห่นำขบวน ทั้งที่ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้นพวกเขาเหล่านี้เพิ่งกำลังรุมด่าเธอในโลกโซเชียลมีเดียก็ตาม
เช่นเดียวกับ ดูแตร์เต ที่เคยกล่าวหาเธอจนทำให้ชีวิตของ ดิอาซ แทบพัง ก็อดไม่ได้ที่จะร่วมแสดงความยินดีกับเธอ โดยเขาถึงขั้นวิดีโอคอลไปหาที่ญี่ปุ่นทันทีที่เธอคว้าเหรียญทองมาคล้องคอ
“เราได้วิดีโอคอลกัน หลังจากนั้นเราก็ได้เจอเขาที่ทำเนียบ เราทุกคนต่างมีความสุข และฉันก็คิดว่าทุกคนก็มีความสุขกับความสำเร็จของนักกีฬาฟิลิปปินส์ในโตเกียว โอลิมปิก” ดิอาซ กล่าว
ขณะที่ ปาเนโญ โจทย์เก่าของดิอาซที่เป็นผู้เผยแพร่ผังล้มประธานาธิบดี ก็ไม่ยอมตกขบวนในเรื่องนี้ เขาเลี่ยงที่จะพูดเรื่องในอดีตและกล่าวชื่นชมเธอในฐานะความภาคภูมิใจของชาติ
“ความสำเร็จของเธอทำให้คนฟิลิปปินส์ภาคภูมิใจ มันจะเป็นแรงบันดาลใจให้นักกีฬาฟิลิปปินส์ทุกคนเห็นว่าการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกไม่ใช่ความฝันอีกต่อไปแต่เป็นความจริงได้ ยินดีด้วย ฮิดิลิน ดิอาซ” ปาเนโญ กล่าวในทวิตเตอร์
เรียกได้ว่าชีวิตของ ดิอาซ เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างแท้จริง
ผ่านมาแล้วให้ผ่านไป
ท้ายที่สุดทฤษฎีสมคบคิดว่าดิอาซเป็นพวกล้มประธานาธิบดีก็ไม่เคยได้รับการพิสูจน์ ทำให้สมาชิกวุฒิสภาหลายคนได้ออกมาเรียกร้องให้ ดูแตร์เต และพวกของเขาออกมาขอโทษ ดิอาซ จากสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปในอดีต
“ผมคิดว่าในระดับหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็ควรพูดว่า ‘เราทำพลาดไป เราขอโทษ เราดีใจที่เธอคว้าเหรียญทองมาได้ นี่เป็นข้อมูลที่เราได้รับมาและบางที่เราก็ไม่ควรปากพล่อยอย่างที่เราทำไป’ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมการพูดมากจึงไม่ทำให้คนยิ่งใหญ่” วุฒิสภา ริชาร์ด กอร์ดอน ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์
แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงไม่มีคำขอโทษอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล ทว่า ดิอาซ ก็ปล่อยวางมันไปหมดแล้ว แม้มันอาจจะเคยสร้างความเจ็บปวดให้เธอมาก่อนก็ตาม
“ก็แค่ลืมมันไป คุณได้เหรียญทองมาแล้ว เหรียญทองมันก็คือเหรียญทอง มันเป็นการดีที่จะปล่อยให้อดีตผ่านไปและอยู่กับชัยชนะพร้อมกับครอบครัวของคุณ และแน่นอนกับประเทศชาติ” ดิอาซ
ตอนนี้เธอกำลังมีชีวิตที่โอเค ทั้งสัญญาพรีเซ็นเตอร์ที่เข้ามามากมายหรือยอดผู้ติดตามในอินสตาแกรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นไปรษณีย์ฟิลิปปินส์ก็เพิ่งจะออกแสตมป์ที่ระลึกเชิดชูเกียรติให้เธอเมื่อปี 2021
ดิอาซ หวังว่าสถานะของเธอในตอนนี้จะเสียงดังพอที่จะเป็นกำลังให้คนฟิลิปปินส์ก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ นานา เพื่อทำให้ฝันเป็นจริง
และสิ่งสำคัญคือการเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะขนาดคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ศัตรูของรัฐบาล” อย่างเธอ ก็ยังทำมันได้สำเร็จ
“พวกเขาพูดกันว่ามันคงเป็นไปไม่ได้ แต่ฉันคิดว่ามันเป็นไปได้ สุดท้ายคนฟิลิปปินส์สามารถเป็นผู้ที่ทำมันได้ เพียงเราต้องเชื่อมั่น” ดิอาซ
“ฉันผ่านอะไรมาตั้งมากมายเพื่อมายืนอยู่ตรงนี้ ทั้งโรคระบาดและทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งนี้คุ้มค่าแล้ว ฉันภูมิใจที่เป็นชาวปินอย”